วันอาทิตย์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

รอง ปธ.สนช.เชื่อ กม.ภาษีที่ดินไม่ตกเว้นแต่ถูกคว่ำ รับเจอปัญหา กม.ถูกแก้หลังฟังความเห็น

รอง ปธ.สนช.เชื่อ กม.ภาษีที่ดินไม่ตกเว้นแต่ถูกคว่ำ รับเจอปัญหา กม.ถูกแก้หลังฟังความเห็น รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เผย กมธ.วิฯ ภาษีที่ดิน เจอปมผลกระทบจากการใช้กฏหมาย ต้องฟังความเห็นอีก เชื่อ กม.ไม่ตก เว้นแต่จะลงมติคว่ำวาระ 3 ชี้ภาครัฐอ้างเปิดถามร่าง กม.บนเว็บ ไม่สอดคล้องทำตาม ม.77 แถมเจอประเด็นใหญ่ สนช.แก้จนเนื้อหาเป็นอีกอย่าง หวังหาข้อยุติได้ในปีหน้า วันนี้ (31 ธ.ค.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวว่า ส่วนตัวได้ติดตามการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ขอขยายเวลาการทำงานเพิ่มเติม เพราะติดขัดเรื่องของการศึกษาผลกระทบจากการใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งอาจจำเป็นต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง เช่น กรณีที่ดินที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ได้ใช้ประโยชน์เองแต่ได้ให้ผู้อื่นเช่า ซึ่งอาจมีผลต่อตัวผู้เช่าคือเจ้าของที่ดินจะผลักภาระภาษีให้กับผู้เช่า เป็นต้น ดังนั้นอาจต้องรับฟังความคิดเห็นให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น เรื่องการขยายเวลาการพิจารณาร่างกฎหมาย ข้อบังคับการประชุมสภากำหนดให้ขยายได้ไม่เกิน 60 วัน แต่หากมีเหตุผลพิเศษและความจำเป็น หากที่ประชุม สนช.เห็นด้วยก็จะมีมติให้ขยายเวลาตามประสงค์ต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติ ตนเชื่อว่ากฎหมายไม่น่าจะตกสภารับมาแล้ว เว้นแต่ว่าสภาจะลงมติไม่ให้ผ่าน ในวาระที่ 3 ตอนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสภาแล้ว ก็ต้องทำให้เสร็จ นายสุรชัย กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บังคับใช้ตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 ทาง สนช.พยายามประสานงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เร่งเสนอกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งเวลานี้มีปัญหาในการตีความ เช่น บางฝ่ายตีความว่าเพียงแค่หน่วยงานราชการนำเสนอร่างกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ ถือว่าเป็นการทำตามมาตรา 77 แล้ว ซึ่งส่วนตัวไม่คิดว่าจะสอดคล้องกับมาตรา 77 หรือ กรณีการตีความการเสนอกฎหมายโดยการร่วมกันเข้าชื่อของประชาชน จะต้องผ่านมาตรา 77 เช่นกัน หากตีความเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากเป็นการผลักภาระที่เป็นต้นทุนในการรับฟังความคิดเห็นไปให้กับประชาชน ซึ่งไม่มีความเหมาะสม ดังนั้นต้องมีกฎหมายออกมารองรับให้เกิดความชัดเจน นอกจากนี้ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 77 ที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือเนื้อหาของร่างกฎหมายที่ไปรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาตรา 77 ก่อนเข้าสภาเป็นอย่างหนึ่ง แต่พอกฎหมายออกจากสภาแล้วกลับแก้ เนื้อหาและสาระสำคัญเป็นอีกอย่าง เป็นประเด็นที่ สนช.คิดมาก่อนแล้วว่าควรต้องมีการแก้ไขโดยเรื่องนี้เราจะหาข้อยุติในปี 2561ให้ได้

from Manager Online - การเมือง http://ift.tt/2C1bVFu
via IFTTT